กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศรายชื่อธุรกิจที่ได้รับการคัดเลือกมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ ประจำปี 2564 ยกให้เป็นต้นแบบธุรกิจสีขาวที่จะเป็นแบบอย่างให้ธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานในปีนี้จะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐาน พร้อมอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายแสดงความดี และได้รับการการันตีบนหน้าหนังสือรับรองนิติบุคคล ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ

 

นายสินิตย์  เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์) ให้กำกับดูแลและติดตามการดำเนินงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เนื่องจากเป็นกรมฯ ที่มีภารกิจและบทบาทหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโดยตรง อีกทั้งยังเป็นคลังข้อมูลธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ โดยเน้นย้ำให้หาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจไทยให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างคล่องตัว มีความสะดวก ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้ภาคธุรกิจมีธรรมาภิบาล และมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจตามหลักเกณฑ์ของสากล สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างประเทศไทยให้ใสสะอาด โดยที่ผ่านมาทราบว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้สนับสนุนและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ภาคธุรกิจที่ประพฤติตนเป็นธุรกิจที่ดี มีการบริหารกิจการด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส ผ่านการจัดกิจกรรม “การรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ” อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา

 “แม้ในปี 2564 นี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายลงก็ตาม    ทำให้การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินได้ในรูปแบบปกติ แต่ภาคธุรกิจยิ่งต้องการขวัญและกำลังใจเพื่อให้สามารถเดินหน้านำพากิจการก้าวต่อไปได้  จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้า จัดกิจกรรมส่งเสริมธรรมาภิบาลให้แก่ภาคธุรกิจในรูปแบบ New Normal โดยได้เปิดให้ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือบริษัทจำกัด ที่จัดตั้งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี สมัครเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีหลักเกณฑ์การตรวจประเมินเพื่อขอรับหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ 6 ข้อ ได้แก่ 1) หลักนิติธรรม ธุรกิจต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด   2) หลักคุณธรรม ต้องมีการส่งเสริมคุณธรรมและจรรยาบรรณทางธุรกิจ 3) หลักความโปร่งใส มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ 4) หลักความมีส่วนร่วม ธุรกิจมีความใส่ใจเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ 5) หลักความรับผิดชอบ ผู้บริหารต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และ 6) หลักความคุ้มค่า มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  โดยมีธุรกิจสนใจสมัครเข้าร่วมทั้งหมดจำนวน 63 ราย และผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินมาตรฐาน
ธรรมาภิบาลธุรกิจ จำนวน 38 ราย โดยกรมฯ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) ธุรกิจที่ได้รับการต่ออายุหนังสือรับรอง และก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจธรรมาภิบาลต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีจำนวน 14 ราย และ 2) ธุรกิจรายใหม่ผ่านเกณฑ์การตรวจประเมินธรรมาภิบาล มีจำนวน 24 ราย” 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์  เลิศไกร) แสดงความยินดีกับธุรกิจที่ผ่านการประเมินมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ธุรกิจที่ผ่านการประเมินจะได้รับหนังสือรับรองและตราเครื่องหมายรับรอง “มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ” จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองเป็นระยะเวลา 3 ปี เครื่องหมายดังกล่าวนอกจากจะเป็นเครื่องยืนยันการปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการประกอบธุรกิจแล้ว ยังแสดงถึงการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียอีกด้วย เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความดี และการดำเนินธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของหลักคุณธรรม โดยธุรกิจสามารถนำเครื่องหมายนี้ไปใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าในการโฆษณาเพื่อเป็นการการันตีการเป็นธุรกิจสีขาว นอกจากนี้ ยังจะได้รับสิทธิในการระบุข้อความรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจบนหนังสือรับรองนิติบุคคลด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้า อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ธุรกิจรายอื่น”

ขณะนี้ กรมฯ กำลังเร่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้เป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจไทยมีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งจะผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายธุรกิจสีขาว เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนเป็นแบบอย่าง และพลังในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยต่อไป