คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกันลงนามในบันทึกความตกลงระหว่างกัน เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เพื่อส่งนักกฎหมายของไทยไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล ภายใต้การดำเนินงานของ “กองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย” รวมทั้ง ขยายความร่วมมือทางวิชาการ ในด้านการแลกเปลี่ยนบุคลากรของ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และบุคลากรในหน่วยงานด้านกฎหมายของประเทศไทย

ในการนี้ นายสจ๊วต เจ ชวาบ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล พร้อมด้วยนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ คณะกรรมการกองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแบ่งปันเรื่องราวในความทรงจำเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และวงการกฎหมายไทย และพัฒนาการจวบจนปัจจุบัน

“กองทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย” ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของเนติบัณฑิตยสภาฯ โดยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ขณะเมื่อทรงดำรงพระอิสริยยศ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มาตั้งเป็นชื่อกองทุนเมื่อปี พ.ศ. 2549 เพื่อรำลึกถึงพระจริยาวัตรในขณะทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ได้สร้างความประทับใจแก่คณาจารย์และนักศึกษา การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ทางกฎหมายก็ดี และกิจกรรมอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยที่ได้ทรงเข้าร่วมก็ดี  ล้วนมีคุณูปการสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างมหาวิทยาลัยคอร์แนล และวงการกฎหมายไทย ทั้งนี้ ได้มีนักศึกษากฎหมายไทยที่มีศักยภาพสูงได้รับทุนไปศึกษาต่อแล้วจำนวน 14 คน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่นักเรียนทุนเหล่านี้ ได้กลับมาเป็นบุคลากรคุณภาพร่วมพัฒนาวงการกฎหมายไทยไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ และที่ปรึกษากฎหมายอย่างต่อเนื่อง

ด้วยพระปณิธานที่มุ่งมั่นอุทิศพระองค์เองเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน  และจากความสนพระทัยในประเด็นเรื่องสิทธิของกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมถึงผู้หญิงและเด็กที่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมทางอาญา ได้พัฒนาต่อยอดเป็นดุษฎีนิพนธ์ ณ เมื่อครั้งที่ทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ในหัวข้อเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรม จนในที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2553  ได้ทรงนำเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้เป็นฐานความคิดสำคัญสำหรับประเทศไทยในการผลักดันร่วมกับประเทศต่าง ๆ จนประสบผลสำเร็จ จนก่อเกิดเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่มีชื่อว่า “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง” (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-Custodial Measures for Women Offenders) หรือ “ข้อกำหนดกรุงเทพ” (Bangkok Rules) นั่นเอง

เพื่อให้การอนุวัติข้อกรุงเทพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สมดังพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล รัฐบาลไทยในสมัยนั้น จึงได้พิจารณาอนุมัติให้มีการก่อตั้งองค์การมหาชนอย่าง TIJ ขึ้น  โดยหวังให้การดำเนินบทบาทของ TIJ มีส่วนในการสนองพระดำริในงานด้านสารัตถะที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการนำมาตรฐานตามข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ในบริบทประเทศไทยและนานาประเทศ รวมถึงพระกรณีกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการป้องกันอาชญากรรม กระบวนการยุติธรรมทางอาญา และหลักนิติธรรมในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เมื่อครั้งที่ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรไทยประจำสาธารณรัฐออสเตรียและผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา รวมถึงห้วงเวลาที่ทรงปฏิบัติภารกิจในฐานะทูตสันถวไมตรีของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime หรือ UNODC) ด้วย

พิธีลงนามบันทึกความตกลงนี้ ดำเนินการมาแล้ว 3 ครั้ง ทุกรอบ 5 ปี เพื่อสานต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมกัน นับเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งที่ TIJ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะคู่ภาคีเพิ่มเติมในการลงนามความตกลงครั้งที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นเสริมความเข้มแข็งด้านความร่วมมือทางวิชาการที่กว้างขวางมากขึ้นระหว่างวงการกฎหมายไทยในภาพรวมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล

สำหรับการลงนามในบันทึกความตกลงระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล เนติบัณฑิตยสภา และ TIJ ในครั้งนี้ จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีผู้แทนจากภาคีทั้งสามหน่วยงานร่วมลงนาม ได้แก่ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกาและนายกเนติบัณฑิตสภา  นายเจน เดวิด โอลิน คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และนายพิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการ TIJ

นางสาวปิยกุล กล่าวว่า “เนติบัณฑิตยสภาในฐานะองค์กรวิชาชีพทางกฎหมายซึ่งเป็นแหล่งรวมนักกฎหมายทุกสายอาชีพ มีความภาคภูมิใจและมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือทางวิชาการกับทั้งสองสถาบัน เพื่อต่อยอดการส่งเสริมความรู้และพัฒนาบุคลากรในวิชาชีพกฎหมาย อันเป็นบทบาทและวิสัยทัศน์สำคัญของเนติบัณฑิตยสภาเสมอมา”

สำหรับนายโอลินได้แสดงทัศนะว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ การได้เห็นนักกฎหมายที่มีพรสวรรค์ มีพลัง และกระตือรือร้นคนแล้วคนเล่าได้รับคัดเลือกให้เข้ารับทุนในพระนามของพระองค์ท่าน อีกทั้ง การลงนามในบันทึกความตกลงครั้งใหม่นี้ จะส่งผลให้สายสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยคอร์แนลและประเทศไทยยังคงแน่นแฟ้นสืบไป”

“สถาบัน TIJ ให้คำมั่นว่าเราจะดำเนินการอย่างเต็มกำลังเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ในอันที่จะส่งเสริมความเป็นเลิศทั้งในด้านวิชาการและในทางวิชาชีพ สำหรับคณาจารย์และผู้นำในแวดวงยุติธรรม โดยจะได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดกับองค์กรภาคีต่อไป” นายพิเศษ กล่าว

 

หากท่านใดสนใจสมัครเพื่อสอบแข่งขันรับทุนพัชรกิติยาภาเพื่อการศึกษากฎหมาย  สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก  www.thethaibar.or.th