24 พฤษภาคม, กรุงเทพฯ – คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หรือ TCEB  (ทีเส็บ) ร่วมผลักดัน พัฒนาและเพิ่มศักยภาพของประเทศเป็นศูนย์กลางการศึกษาไมซ์ในอาเซียน  พร้อมตั้งศูนย์เทียบโอนหลักสูตรประกาศนียบัตร ด้านไมซ์ (Non – Degree) สู่ระบบธนาคารสะสมผลการเรียนรู้ (Credit Transfer/Credit Bank)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันชัย สุทธะนันท์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการนี้ เกิดจากการสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรทั้งในระดับชาติและนานาชาติกับ ทีเส็บ แล้วต้องการต่อยอดยกระดับเข้าสู่ภาคการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยจึงเล็งเห็นว่าเป็นแนวทางที่ตรงกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมต่อกับหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ (Non – Degree) สู่ระบบธนาคารสะสมผลการเรียนรู้  (Credit Transfer/Credit Bank) จากการเทียบโอนผลการเรียนรู้และจากประสบการณ์ของผู้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ของ ทีเส็บ หรือ สถาบันการศึกษาในเครือข่ายการศึกษาไมซ์ในภูมิภาค หลักเกณฑ์การเทียบโอน ผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรฝึกอบรมของ ทีเส็บ สามารถนำผลการเรียนรู้ที่ได้จากหลักสูตรเหล่านั้นมาเทียบโอนเพื่อยกเว้นการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในหลักสูตรปริญญาโท ของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร บางรายวิชาได้เมื่อสมัครเข้าศึกษา โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • เข้าเรียนหรือรับการอบรมในหลักสูตรที่ ทีเส็บ จัดขึ้นเป็นเวลาไม่เกิน 6 ปีจนถึงวันที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • หลักฐานที่ใช้คือประกาศนียบัตรรับรองการผ่านการเรียนหรือการฝึกอบรม หรือหนังสือรับรองว่าได้ผ่านการเรียนหรือการฝึกอบรมจาก ทีเส็บ ซึ่งมีรายละเอียดวัน เวลาและสถานที่ฝึกอบรม
  • รายวิชาในหลักสูตรปริญญาโทที่เทียบได้ในขณะนี้ (มิถุนายน 2564) มีจำนวน 3 รายวิชาหรือ 9 หน่วยกิต จากจำนวนหน่วยกิตที่ต้องเรียน 39 หน่วยกิตในระดับปริญญาโท
  • หลักสูตรระยะสั้นและหลักสูตรฝึกอบรมของ ทีเส็บ ที่นำมาใช้เก็บหน่วยกิตปริญญาโท ปรากฏในเอกสารการเทียบโอนหลักสูตรระยะสั้น/ ฝึกอบรม ที่เส็บ เป็นหน่วยกิต SUMS ในกรณี TCEB มีหลักสูตรระยะสั้น/ การฝึกอบรมเพิ่มเติม สามารถส่งให้มหาวิทยาลัยเทียบเพิ่มเติมได้

นางอรชร ว่องพรรณงาม, CEM, CIS, CED, DES, EMD, SEP  ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ สสปน. กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาศักยภาพ และยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไมซ์ด้านการศึกษา เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไมซ์ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทีเส็บ ได้พัฒนาหลักสูตรมากมายเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ อีกทั้งให้ตรงตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิการศึกษา ทั้งหลักสูตรในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมดจำนวน 18 หลักสูตร ประกอบด้วย Coach the Coaches Program – Introduction to MICE Industry, Coach the Coaches Program – Introduction to Meetings Industry, Coach the Coaches Program – Introduction to Incentive Travels , Coach the Coaches Program – Introduction to Conventions, Coach the Coaches Program – Introduction to Exhibition, Coach the Coaches Program – Introduction to Event Industry , English for MICE, หลักสูตรการจัดการการประชุมองค์กรและการประชุมวิชาชีพอย่างมืออาชีพ (Thailand Meetings & Conventions Management Professional – TMCMP), หลักสูตรการจัดการการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Thailand Incentive Travel Professional – TITP), หลักสูตรการจัดงานแสดงสินค้าอย่างมืออาชีพ (Thailand Exhibition Management Professional – TEMP), หลักสูตรอีเว้นท์มือใหม่ (Event Professional), หลักสูตรการบริหารจัดการสถานที่จัดงาน Venue Management Course, หลักสูตรมืออาชีพด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน (Thailand Sustainable Event Professional), Certified in Exhibition Management (CEM), Certified Incentive Specialist (CIS), Sustainable Event Professional Certificate (SEPC), Certified Meeting Professional (CMP) และ Event Design Certificate (CED)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ร้อยโทหญิง ดร.เกิดศิริ เจริญวิศาล, CEM, CIS, CED ประธานหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบันฑิต สาขาการจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม และอีเวนต์ และหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม และอีเวนต์  มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เพื่อเปิดโอกาส ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและศักยภาพของบุคลากร สร้างคุณค่าให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์หรือที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อการเชื่อมโยงองค์ความรู้และด้านวิชาการที่เกี่ยวข้องกับศูนย์เครือข่ายการศึกษาไมซ์ เป็นกลไกสร้างมาตรฐานวิชาชีพและส่งเสริมบุคลากรให้ได้รับการศึกษาแบบเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ตามแนวทางการรับรองผลการเรียนรู้ เพื่อตอบสนองการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนต่อไปนั้น ในฐานะที่ดูแลหลักสูตรด้านไมซ์ ทั้ง 2 หลักสูตร ระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม และอีเวนต์และหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว โรงแรม และอีเวนต์ ได้เตรียมความพร้อมในการนำหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ (Non – Degree) สู่ระบบธนาคารสะสมผลการเรียนรู้  (Credit Transfer/Credit Bank) เทียบโอนผลการเรียนรู้และจากประสบการณ์ของผู้จบหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านไมซ์ของ ทีเส็บ เทียบโอนเข้าระบบทั้ง 2 หลักสูตร ได้ในปีการศึกษา 2565   ซึ่งการเทียบโอนหน่วยกิตจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนดังนี้ ใช้เป็นคุณสมบัติของผู้สมัครในการพิจารณาเพื่อรับเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท  ประหยัดค่าใช้จ่ายในการศึกษาปริญญาโท เนื่องจากคณะจะมอบทุนการศึกษาในจำนวนที่เป็นสัดส่วนเท่ากับค่าลงทะเบียนของรายวิชาที่นำมาเทียบโอนหน่วยกิตให้ ทำให้ผู้เรียนมีเวลาเตรียม และทำสารนิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ลดระยะเวลาในการศึกษาจนจบหลักสูตรลงได้อย่างกระชับและรวดเร็วขึ้นอีกด้วย”

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าศึกษาต่อในระดับการศึกษาปริญญาโท หรือระดับปริญญาเอก สามารถ Download ใบได้ที่ สมัคร www.ms.su.ac.th หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 032-594031