จากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขแล้ว ยังเป็นตัวเร่ง
ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผู้คนทั่วโลกกำลังยากจนมากขึ้น รายงานภาวะสังคมไทยชี้ว่าระหว่างปี พ.ศ. 2562 และไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2563 ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นจาก 0.37 ล้านคนเป็น 0.74 ล้านคน หลายครอบครัวจึงสูญเสียรายได้ประจำไป ประชาชนเกิดความเครียดสูงและอาจลามไปถึงการเกิดความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงต่อเพศหญิง กระบวนการยุติธรรมยุคใหม่จึงจำเป็นต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาในยุคปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิต และติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น

การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรมครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2564 ผ่านการเสวนาออนไลน์ หัวข้อหลัก “การอำนวยความยุติธรรมในยุควิถีใหม่สู่ประชาชน” (Enhancing Justice for People in the New Normal Era) เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสร้างเป็นตำราการบริหารงานยุติธรรมในยุคใหม่ จัดโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) ซึ่งครั้งนี้สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ เครือข่ายผู้บริหารหลักสูตรอบรมด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development – RoLD) ได้รับเชิญเป็นวิทยากรร่วมเสวนา แบ่งปันความรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

ในหัวข้อเสวนา “ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมสู่การเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal”วิทยากรได้ร่วมถ่ายทอดมุมมอง ประสบการณ์ และถอดบทเรียนจากภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เพื่อชี้ให้สังคมเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและหนักขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และความพยายามในการดำเนินงานของหลายภาคส่วนเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น รวมถึงการดำเนินงานเพื่อเสริมพลังผู้หญิงและเด็ก โดยพยายามกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้ด้วย 

ความยุติธรรมดิจิทัล กระบวนการยุติธรรมที่เคารพความต่าง สร้างการมีส่วนร่วม (Inclusive) ในยุคโควิด-19

ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี  นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกลไกการทำงานของกองทุนยุติธรรม ได้กล่าวถึง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถยื่นความช่วยเหลือให้ได้เต็มที่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น ขอบเขตการให้ความช่วยเหลือจำกัดเฉพาะกรณีที่เป็นคดีความที่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลแล้วเท่านั้น ช่วยได้เฉพาะคนที่ผ่านเกณฑ์ทางกฎหมาย และเกณฑ์ประเมินฐานะผู้ขอรับความช่วยเหลือยังไม่ชัดเจนเพียงพอซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า นี่คือประเด็นที่ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งที่จริงแล้วประเทศที่ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ ประชาชนจะต้องได้รับประกันสิทธิในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เพราะฉะนั้น ประชาชนทุกคนจะต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์เสมอ และสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเสมอภาค 

สำนักงานกองทุนยุติธรรมภายใต้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาค มุ่งเน้นการช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้ โดยมีภารกิจหลัก 4 ข้อ คือ (1) เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี (2) การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีถูกขังเกิน ศาลยกฟ้องเนื่องจากเป็นแพะ และ
(4) การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน 

ประเด็นสำคัญ คือ “ยังมีคำร้องของประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้รับการอนุมัติให้ได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานกองทุนยุติธรรม” ประเด็นนี้ ดร.กิรติพงศ์ ได้ชี้แจงถึงปัญหาด้านกฎหมายและเกณฑ์
ในการตีความกฎหมาย ที่กองทุนยุติธรรมต้องหาแนวทางปรับแก้กันต่อไป ดังนี้

(1) การช่วยเหลือในการดำเนินคดี ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือว่าต้องอยู่ในสถานะที่กลายเป็นคดีความแล้วเท่านั้น หากยังไม่เป็นคดี จะไม่สามารถขอความช่วยเหลือได้ 

(2) การช่วยเหลือให้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี พบปัญหา คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินที่ใช้การตีความกฎหมาย โดยหลักการประเมินกำหนดว่า หากให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหามีความเสี่ยงจะหลบหนีคดี หรือก่อคดีที่เป็นภัยต่อ
ความสงบสุขหรือไม่ การกำหนดเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาที่มีภูมิลำเนาใกล้ชายแดนและผู้ต้องหาคดียาเสพติดมักจะไม่ได้รับสิทธิ์ในการช่วยเหลือ 

(3) การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน พบว่า ปัญหาจากการตีความ ทำให้มีผู้ไม่ได้รับการอนุมัติ
คำร้อง เพราะกำหนดว่า ต้องเป็นผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจงใจกลั่นแกล้ง หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ซึ่ง ดร.กิรติพงศ์ มองว่า การตีความเช่นนี้ทำให้ประชาชนหลายคนถูกตัดโอกาสการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม 

(4) การช่วยเหลือด้านการให้ความรู้กับประชาชน ก็ถูกตีกรอบว่าต้องเป็นโครงการที่มาจากส่วนกลางเท่านั้น ทำให้โครงการที่ได้รับอนุมัติขาดความหลากหลาย 

ดังนั้น สำนักงานกองทุนยุติธรรมจึงมีแผนที่จะปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมากขึ้น

ความท้าทายสำคัญอีกประการที่กองทุนยุติธรรมต้องเผชิญ คือ ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนเข้าถึงสำนักงานกองทุนยุติธรรมได้อย่างยากลำบาก โดยพบปัญหา เช่นระบบการรับเรื่องและรวบรวมข้อมูลทำได้ยาก การเข้าถึงบริการและการประชุมพิจารณาอนุมัติ รวมถึงการเซ็นสัญญาและรายงานตัว ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก 

สำนักกองทุนยุติธรรมจึงกำลังปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการต่อยอดพัฒนาระบบ
ความช่วยเหลือในรูปแบบดิจิทัล เช่น การพัฒนา Mobile Applications การพัฒนาระบบ Digital Exchange Center และการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data ของกองทุน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกองทุนยุติธรรมได้ง่ายและทั่วถึง ลดขั้นตอน ลดการเดินทางของประชาชนและเจ้าหน้าที่ และหวังว่าจะช่วยให้เกิดการกระจายอำนาจออกสู่ท้องถิ่นมากขึ้น 

“เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมยุคนิวนอร์มอล สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือการปรับกฎหมายบางอย่างเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมได้ โดยเบื้องต้น เราต้องสร้างความเข้าใจว่าประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิ์ตรงนี้ได้ทุกคน กองทุนยุติธรรมจึงน่าจะต้องขยายขอบเขตการทำงาน เช่น หาที่ปรึกษานักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเพื่อมาช่วยเหลือหรือช่วยไกล่เกลี่ยก่อนที่คดีความจะขยายออกไป แนวทางเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนคดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วก็จะช่วยลดภาวะความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องเป็นคดีความในอนาคตด้วย”ดร.กิรติพงศ์ กล่าวสรุป

การช่วยเหลืออย่างสร้างสรรค์ ลดความเหลื่อมล้ำต่อเด็กและสตรีในยุคโควิด-19 

ในงานเสวนาครั้งนี้วิทยากรยังกล่าวถึงปัญหาของกลุ่มเปราะบางทั้งเด็กและผู้หญิง ที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลายหน่วยงานในสังคมได้ร่วมแบ่งปันแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน  

นายสุรเสกข์  ยุทธิวัฒน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทูลมอโร จำกัด ได้เล่าถึงโครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” ว่า “ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กเข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น พบปัญหาการติดโทรศัพท์มือถือ การติดเกมออนไลน์ รวมถึงปัญหาการเกิดภัยคุกคามในโลกออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการดูแลลูกหลานอย่างถูกต้องและเหมาะสม หลายครั้งผู้ปกครองมักดุด่าและทำร้ายร่างกายเด็ก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง”

โครงการ “คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน” จึงเป็นระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ เปิดห้องเรียนออนไลน์สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองศึกษาแนวทางในการสื่อสารกับบุตรหลาน เพื่อแก้พฤติกรรมการติดมือถือด้วยรูปแบบการแชร์ประสบการณ์กลุ่ม โดยให้พ่อแม่เรียนรู้วิธีการดูแลบุตรหลานตามแต่ละช่วงวัย คือ ช่วงปฐมวัย ช่วงประถม และช่วงมัธยม และมีการติดตามผลให้ผู้ปกครองส่งการบ้านผ่านแอปพลิเคชัน Line ภายหลังดำเนินโครงการนี้ไประยะหนึ่ง พบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมลดลง เช่น ทำให้ผู้ปกครองลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเรียน ค่าที่พัก ค่าปรึกษากับจิตแพทย์ ถือเป็นการช่วยผู้ปกครองที่ไม่ได้มีกำลังทรัพย์เพียงพอจากหลายพื้นที่ให้สามารถเข้าถึง
การเรียนสอนได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันทีมทูลมอโรกำลังพัฒนาหลักสูตรที่เอื้อให้ “ผู้ปกครองทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ” เข้าถึง
การเรียนการสอนออนไลน์นี้ หวังใช้พลังสื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม

“ปัจจุบันสื่อสามารถให้แรงบันดาลใจและให้ความรู้ต่อคนหมู่มากได้มากขึ้น กระบวนการทำ
สื่อที่สร้างสรรค์จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ เช่น การที่เฟซบุ๊กแฟนเพจร่วมมือกับเครือข่ายหรือลูกเพจที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน สื่อออนไลน์จึงมีพลังมากที่ทำให้ผู้ประสบปัญหาเหล่านี้เข้าถึงการแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น สื่อต้องมองว่าแฟนเพจเปรียบเสมือนพรรคพวกของตัวเองที่เราพร้อมให้การช่วยเหลือ ดีกว่าแค่สร้างความตระหนัก (awareness) อย่างเดียว ถือเป็นพลังของสื่อที่สามารถสร้างได้จริงในช่วงเวลานี้” นายสุรเสกข์ กล่าวสรุป 

นางสาวมณฑิรา  นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการพิเศษ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้นำเสนอ งานวิจัยของ UN Women ในหัวข้อ “COVID-19 and Violence Against Women: The evidence behind the talk” ระบุถึงปัญหาความรุนแรงหลายรูปแบบต่อผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่เกิดขึ้นในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเป็นงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2562 ถึงพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ซึ่งใช้การค้นหา 20.5 ล้าน unique searchesและ 3,500 คีย์เวิร์ด พบว่า ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงผ่านคำต่าง ๆ อีกทั้งเมื่อใช้ AI ก็ยังพบภาพร่องรอยที่ผู้หญิงถูกทำร้ายและถูกโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย ถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังพบว่า
ในคำค้นหาต่าง ๆ ผู้หญิงมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า กลัว เหงา เปล่าเปลี่ยว ติดต่อครอบครัวไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ ทวิตเตอร์ในประเทศไทยมีการใช้คำที่มีความหมายที่แสดงถึงการรังเกียจ
มุ่งทำร้ายให้เสื่อมเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นหญิงมากขึ้นถึง 22,384% เมื่อเทียบกับประเทศอื่น อีกทั้งยังพบว่าผู้หญิงถูกประณามหรือประจาน (Victim Shaming) ผ่านทางออนไลน์ รวมถึงถูกใช้ความรุนแรงจากคนในครอบครัวและชุมชนด้วย

ประเด็นสำคัญ คือ ในช่วงล็อกดาวน์ ผู้หญิงต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดกับบุคคลเหล่านั้นตลอดเวลา ดังนั้น
ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ยากขึ้น 

นอกจากนี้งานวิจัยยังพบว่า “กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติเพศหญิง” ก็มักถูกสังคมมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมตามได้ตามปกติ ซึ่งการมองในลักษณะนี้ถือเป็นการลดทอนความเป็นมนุษย์ต่อผู้หญิงกลุ่มนี้ด้วย 

UN Women จึงร่วมมือกับ ภาคีเครือข่าย นักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่น ต่อสู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอันมีสาเหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  โดยการเพิ่มบทบาทของอาสาสมัครผู้หญิงให้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือสังคมเชิงรุก เช่น การให้อาสาสมัครผู้หญิงเข้าไปเยี่ยมบ้านกลุ่มเปราะบางอย่าง
“กลุ่มผู้ใช้แรงงานข้ามชาติผู้หญิง” เพื่อให้เกิดการสื่อสารด้วยความเข้าใจและช่วยกระตุ้นให้กลุ่มดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึง การทำงานอาสาสมัครครั้งนี้จึงถือเป็นการ
“เพิ่มบทบาทผู้หญิง” ในการช่วย “กลุ่มเปราะบางที่เป็นหญิง” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในช่วงที่ผ่านมา

“ผู้หญิงควรได้มีส่วนร่วมมากขึ้นในการวางแผนนโยบายระดับสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขา เพราะนี่เป็นกลไกสำคัญที่เราจะสามารถนำความเห็นของพวกเขามารวม เพื่อวางแผนตัดสินใจร่วมกัน สร้างพื้นที่ยืนให้ทุกคนในสังคม ซึ่งจะดีต่อการวางแผนในเชิงนโยบาย” นางสาวมณฑิรา กล่าวสรุป

ในงานเสวนาครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของหลายภาคส่วนที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และสะท้อนถึงความพยายามของหลาย
ภาคส่วนที่กำลังช่วยกันสร้างสังคมยุติธรรม “ลดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวสู่
ยุคนิวนอร์มอลได้ โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ทั้งนี้ เชื่อว่ากลไกต่าง ๆ ยังคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อ ให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมแคบลง