เทศกาลเครื่องปั้นดินเผานานาชาติโคราช หรือ KORAT CLAY FESTIVAL THAILAND 2021 คือ งานเทศกาลศิลปะงานปั้นดินและเซรามิคในระดับโลก ซึ่งจะจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 22-26 ธันวาคม 2564 ที่จังหวัดนครราชสีมา แดนดินแห่งอารยธรรม ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และเรื่องราวการกำเนิดของเครื่องปั้นดินเผาอันเก่าแก่ของประเทศไทย โดยเฉพาะเครื่องปั้นดินเผาจากหมู่บ้านด่านเกวียน แหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีความแข็งแกร่ง ทนทาน และมีความสวยงามด้านเอกลักษณ์ และรูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลายอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ความน่าสนใจของงานนี้ถูกบอกเล่าผ่านนิมิตร พิพิธกุล ผู้จัดงาน Interkeramos Korat Clay Festival 2022 โดยร่วมมือกับ IKTHAI วิสาหกิจชุมชน และเหล่าศิลปินด่านเกวียนแห่งเมืองย่าโมนั่นเอง

“เราพยายามจะชูเรื่องของดินที่เป็นจุดแข็งแรงที่สุดของโคราช เรามีเนื้อดินที่ดีและสามารถขึ้นรูปงานต่าง ๆ ได้ เราอาจจะคุ้นเคยเรื่องงานปั้นกระถาง ภาชนะ แต่งานเหล่านี้สามารถขึ้นรูปทรงขนาดใหญ่ มีช่วงหนึ่งที่มีศิลปินทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาอบรมในด่านเกวียน สามารถขึ้นงานประดับสวนหรืองานประติมากรรม เราเลยมองเห็นโอกาสนี้ ว่าเราสามารถทำให้งานด่านเกวียน แปรสภาพจากพวกจานชาม กระถางต่าง ๆ กลายเป็นงานศิลปะได้”

ทางด้านสุวนีย์ เนตวงษ์ (อำแดงต้อย) ศิลปินชาวด่านเกวียน หนึ่งในผู้ก่อตั้งก่อตั้งสตูดิโออำแดงเซรามิคส์ ซึ่งผลิตและส่งออกเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนไปทั่วโลก และ Festival Director ของงานนี้บอกว่า การจัดงาน Interkeramos Korat Clay Festival 2022 เป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน เพราะสำหรับชาวต่างชาตินั้นให้การยกย่องงานเครื่องปั้นดินเผาของประเทศไทยเป็นอย่างดี

“เรามีโอกาสทำงานกับ Louis Katz ผู้เป็น Festival Director ร่วมกันในงานนี้ เขาคือศิลปินและผู้เชี่ยวชาญ ที่เคยลงพื้นที่เก็บข้อมูลและทำการศึกษาที่ด่านเกวียนมาเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี ซึ่งเราอยากช่วยกันผลักดันให้เกิดเทศกาลโดยใช้เรื่องราวของหมู่บ้านด่านเกวียน มาเป็นแม่เหล็กสำคัญให้คนเดินทางมา โดยชูจุดเด่นของการเป็น Clay Village ซึ่งจะพลิกภาพจากหมู่บ้านรับจ้างผลิตกลายเป็นแหล่งวัตถุดิบ ศูนย์การเรียนรู้ที่ดี และกลายเป็นสถาบันที่จะดึงให้คนเดินทางมาด่านเกวียนได้“

แผนการของเทศกาลเครื่องปั้นดินเผานานาชาติโคราชครั้งนี้ คือการสร้างชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ โดยทำการเลือก 8 ศิลปินจาก 8 พื้นที่ และแบ่งพื้นที่เป็นสตูดิโอลักษณะต่าง ๆ ที่มีการให้ความรู้ทั้งเรื่องของภูมิปัญญาดั้งเดิม ไปจนถึงการเรียนรู้ในเรื่องของการทำการตลาด เพราะที่ด่านเกวียนมีเตาเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่สามารถยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมในชุมชน ซึ่งรองรับการผลิตสินค้าในจำนวนมากได้

ในด้านของคุณค่าด้านศิลปะ ภายในงานจะมีการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ผ่าน Meeting Conference เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ และศิลปินทั้ง 8 คน ก็จะทำงานศิลปะโดยใช้ดินของด่านเกวียน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใครได้ลองมาใช้สร้างผลงานก็จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากใช้ดินของด่านเกวียนในการสร้างงานของพวกเขาอีก ซึ่งหมายความว่าเรามีความเป็นไปได้ในการประชาสัมพันธ์ดินในพื้นที่ของเราให้เป็นวัตถุดิบระดับโลก  เมื่อศิลปินชาวต่างชาติสนใจขอซื้อดินจากด่านเกวียน จะก่อเกิดเป็นรายได้และต้นทุนในการเติบโตของเศรษฐกิจชุมชนต่อไป

“นอกเหนือจากการลงพื้นที่ เรายังได้เข้าไปฟื้นฟูเรื่องของเศรษฐกิจ เอาสมาพันธ์ SME ลงไปรับสมัครสมาชิกใหม่ ลงทะเบียนและให้ช่างต่าง ๆ เข้าไปสู่กระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดีไซน์ ซึ่งเป็นก้าวกระโดดสเต็ปหนึ่งในอนาคต ณ วันนี้ด่านเกวียนได้ถูกยกเข้าไปสู่ระดับโลกแล้ว ภายใต้การวางเป้าหมายที่ยังคงรักษาคุณค่าความเป็นชุมชนและความเป็นศิลปินท้องถิ่น เราเห็นความภูมิใจในแววตาเขา เห็นการที่เขาออกมามีส่วนร่วม เห็นเขาขนข้าวขนของออกมาร่วมงาน ซึ่งปกติจะเป็นการจ้างมาร่วมงาน แต่นี่เป็นการเข้ามาร่วมด้วยหัวจิตหัวใจจริง ๆ เพราะเขารู้สึกว่านี่คือการเปิดตัว เปิดภาพของเขา ล่าสุดมีการจัดมหกรรมด่านเกวียนทุก ๆ ปีเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่ง IKTHAI จะเข้าไปดูเพื่อบริหารและออกแบบนิทรรศการให้เขาในระยะยาว”  สุวนีย์หรืออำแดงต้อย กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของเรื่องเราจากเตาเผาของหมู่บ้านด่านเกวียน จนเกิดเป็นเทศกาลเครื่องปั้นดินเผานานาชาติโคราช 2564 ซึ่งได้รับการส่งเสริมและพัฒนาโดยคนด่านเกวียน เพื่อคนด่านเกวียน และจะพัฒนาต่อยอดจนเป็น Festival Economy ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เมือง และประเทศต่อไปอย่างยั่งยืน