We Will Survive
ทางรอดสถานที่จัดประชุมในยุคโควิด-19
21 พฤษภาคม, กรุงเทพฯ – ฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. TCEB (ทีเส็บ) ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยการสนับสนุนรายละ 30,000 บาท เพื่อเตรียมความพร้อม จัดประชุมอย่างไรปลอดภัย ไร้โควิด พร้อมจัดเสวนาออนไลน์ (webinar) นำทีมผู้ประกอบการไมซ์เจาะทางรอดธุรกิจโรงแรมและศูนย์การแสดงและนิทรรศการ ภายใต้หัวข้อ “We Will Survive ทางรอดสถานที่จัดประชุมในยุคโควิด-19” ผ่านทางสัมมนาไลฟ์สดออนไลน์ หลังจากรัฐบาลโดย ศบค. ได้มีประกาศมาตรการผ่อนปรนให้เปิดกิจการและกิจกรรมในกลุ่มที่ 2 ซึ่งรวมถึงกิจการและกิจกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมไมซ์ประเภทห้องประชุมในโรงแรมและศูนย์ประชุม (ข้อฉ.) ตามเอกสารลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าอุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศ จะกลับมามีเม็ดเงินหมุนเวียนได้กว่าสามหมื่นล้านบาท

นางสาวศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรมของสสปน. (TCEB) เผยถึงบทบาทของ TCEB ในการออกมาตรการเร่งด่วน บรรเทาความเดือดร้อนและช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ ว่า “ทีเส็บตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือผู้ประกอบการไมซ์เป็นอันดับหนึ่ง ในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมในภาคบริการด้านธุรกิจที่สำคัญซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ จำนวน 2 โครงการหลักในระยะแรก คือ โครงการจัดประชุมอย่างไร ปลอดภัยไร้ COVID-19 เป็นมาตรการเยียวยาระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 งบประมาณ 30,000 บาท มอบให้กับสถานที่ประกอบการผ่านมาตรฐาน TMVS หรือ สมาชิกสมาคมโรงแรมไทย (THA) รวม 216 ราย และ โครงการที่สอง เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้เทคโนโลยีส่งเสริมการจัดงานสัมมนาและงานแสดงสินค้า Virtual Meeting Space หรือ VMS รวมถึงการประชุมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) หรือการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้าผ่านออนไลน์ (หรือ โอทูโอ O2O -Offline to Online) ช่วยดันธุรกิจการแสดงสินค้าและการขายผ่านระบบออนไลน์ได้ และ E-Learning Platform การเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อปรับตัวให้ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป”
ทั้งนี้มีผลสำรวจทางธุรกิจพบว่า หากรัฐบาลปลดล็อคดาวน์ ผู้ประกอบการจะสามารถจัดงานได้ไม่ต่ำกว่า 900 งาน ทั้งในส่วนของงานประชุมสัมมนา (Meeting & Incentive) การประชุมอบรม(Convention) งานแสดงสินค้าและนิทรรศการ (Exhibition) การจัดงานอีเวนต์ส่งเสริมธุรกิจ และ สร้างงานให้กับอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศราว 7 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าในการผลักดันเศรษฐกิจ สร้างรายได้เข้าประเทศไทยเป็นกว่า 35,000 ล้านบาท ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึง เดือนมีนาคม 2564

นอกจากนี้ คุณ อรชร ว่องพรรณงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ TCEB ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ทาง TCEB ยังเดินหน้ากับแผนงานสร้าง Trust Economy เน้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ให้บริการ (Venue) และผู้ให้บริการ (Organizer) พัฒนามาตรฐานที่เชื่อถือได้ ควบคู่การเสริมสร้างความมั่นใจในการกลับมาของธุรกิจของผู้ประกอบการไมซ์ ที่ได้มาตรฐาน TMVS และผ่านมาตรการที่ได้รับการแนะนำและรับรองจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข” โดยกล่าวย้ำว่ารูปธรรมการดำเนินงานคือ “เราต้องทำให้เกิดสิ่งที่เรียกกันว่า Trust Economy ช่วยสนับสนุน Trust Infrastructure หรือ Trust service ซึ่ง สสปน. เราได้มีการจัดทำแนวปฏิบัติ MICE Hygiene Guidelines คู่มือแนวปฎิบัติสำหรับการจัดงานไมซ์เพื่อให้ตอบรับกับการดำเนินธุรกิจในฐานวิถีชีวิตใหม่ รวมถึงโครงการและกิจกรรมอื่น ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปค่ะ”