“การเยียวยา บางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเงิน” มีคดีทำร้ายร่างกายคดีหนึ่งเกิดขึ้นที่ .ศรีสะเกษ ผู้เสียหายเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีหน้าที่เฝ้าโรงพยาบาลในท้องถิ่น ถูกกลุ่มวัยรุ่นที่เข้าไปใช้ห้องน้ำในโรงพยาบาลรุมทำร้ายโดยใช้เก้าอี้ฟาดใส่เขา ก่อนจะรู้ว่าเกิดจากความเข้าใจผิด จึงมีการไกล่เกลี่ยโดยครอบครัวของกลุ่มวัยรุ่นประสานผู้นำชุมชนเข้าขอขมาต่อผู้เสียหายและชดใช้ค่าเสียหาย 20,000 บาท ในขณะที่วัยรุ่นผู้ก่อเหตุกำลังก้มลงกราบ ปรากฏว่าผู้เสียหาย ค่อยๆ มาจูงมือวัยรุ่นคนนี้ไปหาแม่ของเขาเอง เพื่อนำเงิน 20,000 บาทไปคืน” 

นี่เป็นตัวอย่างการใช้ “กระบวนการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม” ซึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างในงานเสวนาออนไลน์ เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์: ความเป็นมาและความคาดหวังต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย” ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวรายงานวิจัย Harmonious Justice: Thailand’ s Approach to Restorative Justice และ “คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ฉบับแปลภาษาไทย เพื่อให้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้มีเครื่องมือในการยกระดับการทำงาน โดยมีหลักคิดที่มีการรวบรวมจากต่างประเทศและเก็บข้อมูลจากหลายพื้นที่ในไทย เพื่อให้มีการปรับใช้อย่างสอดคล้องกับบริบทของประเทศ

บนเส้นทางกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ของไทย แม้ที่ผ่านมาจะถูกมองว่าเป็นทางเลือก
แต่ในสายตาของ ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งได้บุกเบิกเส้นทางนี้มากกว่า 2 ทศวรรษ ได้ถ่ายทอดในงานเสวนาว่า ปรัชญาของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ การที่คู่กรณี ผู้เสียหาย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ตกลงเพื่อหาทางออก โดยทางออกนั้นนำไปสู่การสำนึกผิด เยียวยาชดใช้เพื่อให้เกิดการให้อภัย และการเริ่มต้นใหม่ ที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ที่ดีขึ้นทั้งเหยื่อ ผู้กระทำผิด รวมถึงชุมชน

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในไทย จะเกิดขึ้นได้ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ปรับมุมมอง
เรื่องโทษทางอาญาที่เน้นการแก้แค้นทดแทน ไปสู่กระบวนการที่เน้นความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่ได้รับความสนใจในต่างประเทศ เพราะกระบวนการที่เน้นลงโทษผู้กระทำความผิดมากเกินไป จนทำให้คดีล้นศาล คนล้นคุก แต่คดีอาชญากรรมไม่ได้ลดลง ถือเป็นปัญหาเรื้อรังภายในประเทศ”

หากวิเคราะห์ถึงรากเหง้าในสังคมไทย แนวคิดนี้สอดคล้องกับวัฒนธรรมดั้งเดิม และถ้ามีการนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างเป็นระบบ น่าจะช่วยแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมได้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีการเผยแพร่ความรู้ไปสู่วงกว้าง ทั้งด้านกฎหมาย หรือการแก้ปัญหาเกี่ยวกับเยาวชน
โดยอาศัยการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งอย่างลึกซึ้งถึงต้นเหตุของปัญหา เช่น กระบวนการไกล่เกลี่ยจะต้องให้คู่กรณีเจอกันในบรรยากาศที่เหมาะสม รับฟังกันแบบเปิดใจต่อปัญหาของทั้งสองฝ่าย เพื่อนำไปสู่การสำนึกผิดจนเกิดการให้อภัย เกิดการเริ่มต้นใหม่ที่ดีเมื่อกลับคืนสู่สังคม แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ การสร้างการไกล่เกลี่ย โดยทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยินยอมพร้อมใจที่จะให้อภัย ซึ่งอาจไม่ได้นำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นความสมานฉันท์เสมอไป

อย่างไรก็ตาม ศ. (พิเศษ) ดร.กิตติพงษ์ ยังคาดหวังให้กระบวนการยุติธรรมไทยพัฒนามากขึ้น
โดยเสนอให้วงการอื่น ๆ นำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ เช่น วงการการศึกษา ที่สามารถนำไปใช้กับปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียน อีกทั้ง ยังเสนอให้ไทยมีกฎหมายแม่บท พร้อมร่างยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้มีการทำงานอย่างเป็นระบบ มีกลไกทางกฎหมายที่ดีมารองรับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ว่าด้วยการกำหนดโทษสำหรับลงโทษผู้กระทำผิด จะเห็นว่ายังไม่ได้กำหนดระบบการทำงานเพื่อสังคมไว้อย่างชัดเจน เป็นต้น

สิ่งสำคัญ คือ การดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม จะต้องสร้างพลัง และให้ความรู้แก่ชุมชนให้เกิดกระบวนการจัดการตัวเองได้ เพื่อชุมชนจะได้มีส่วนในการดูแลทั้งผู้กระทำผิดและผู้เสียหายสอดคล้องกับผลวิจัยของ TIJ ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเทศ โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ พบว่า หัวใจหลักของกระบวนการสมานฉันท์ที่ทำให้ไม่เกิดการกระทำผิดซ้ำ ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไปพร้อมกับกระบวนการยุติธรรม

“กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะเป็นส่วนเติมเต็มในกระบวนการอาญาของประเทศไทย เพราะกระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้นทดแทน กีดกันผู้เสียหายกับผู้กระทำผิดออกจากกัน โดยไม่มีโอกาสในการปรับความเข้าใจกัน ทำให้ผู้เสียหายมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมน้อย และไม่ได้แสดงความคิดเห็นของตนว่า ต้องการได้รับการเยียวยาอย่างไร แต่ปล่อยให้เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการ” 

นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้วิจัยหลักและผู้จัดการโครงการ TIJ วิเคราะห์ถึงส่วนที่จะเติมเต็มจากการวิจัย โดยสะท้อนถึง ข้อค้นพบจากงานวิจัย และได้เล่าเชิงวิเคราะห์ จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัยว่า กระบวนการเยียวยามีส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการยุติธรรมที่มองผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เพราะการเยียวยาจะทำให้เกิดการฟื้นคืนความสัมพันธ์ของคู่กรณีและความสมานฉันท์ในสังคมได้ โดยปรับฐานคิดที่เน้นระบบความยุติธรรมแบบแก้แค้นทดแทน ให้มีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เข้าไปเสริมเพื่อให้ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดได้พบกัน มีโอกาสเจรจา ส่งเสริมสำนึกของการรับผิดชอบ และการเยียวยาความเสียหาย

ส่วนการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้จริง นายอุกฤษฏ์ กล่าวว่า วิธีการนี้ไม่ได้จำกัดให้ใช้เพียงแค่ช่วงก่อนดำเนินคดีอาญาเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้ในชั้นบังคับโทษได้ และในประเทศไทยก็มีกรณีที่ได้ใช้ไปบ้างแล้ว โดยกรมราชทัณฑ์นำกระบวนการนี้ไปใช้กับผู้ต้องขัง เช่น การสร้างกิจกรรมระหว่างผู้ต้องขังกับผู้เสียหาย ผู้ต้องขังกับชุมชนและสังคม และกิจกรรมระหว่างผู้ต้องขังด้วยกันเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมสภาพจิตใจ รวมถึงความพร้อมในเชิงบูรณาการก่อนส่งผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วกลับคืนสู่สังคม แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจมีปัญหาในการดำเนินงาน เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมาก และยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และทัศนคติในการทำงานเชิงสมานฉันท์มากนักก็ตาม แต่ก็ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญในการนำกระบวนการสมานฉันท์มาปรับใช้ในกระบวนการยุติธรรมไทย

เมื่อมองในภาพรวม “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในประเทศไทย” ได้รับการยอมรับอย่างมากในคดีเกี่ยวกับเยาวชน และมีการพัฒนากระบวนการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะมีกฎหมายที่เฉพาะเช่น พระราชบัญญัติศาลเยาวชนฯ มาตรา 86 ที่เป็นกระบวนการก่อนเริ่มต้นนำเยาวชนกระทำผิดไปฟ้องคดี สามารถให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ มีอำนาจใช้ดุลพินิจเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ รวมถึงการทำแผนบำบัดฟื้นฟูได้ ทำให้เด็กไม่มีประวัติอาชญากรและมีโอกาสปรับปรุงพฤติกรรม ตลอดจนผู้เสียหายในคดีก็ได้มีส่วนร่วมในการประชุมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งในประเทศไทยมักปรากฏในรูปแบบของการประชุมกลุ่มครอบครัว

ทั้งนี้ จากการวิจัยได้พบข้อมูลสถิติน่าสนใจถึงตัวชี้วัดความสำเร็จในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จากผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติที่เก็บข้อมูล โดยพบว่า ร้อยละ 23 ระบุว่า การไม่กระทำความผิดซ้ำของผู้กระทำผิดและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้กระทำผิด จะเป็นตัวชี้วัดที่ดีได้ อีกร้อยละ 23 ระบุว่า การที่คู่กรณีสามารถบรรลุข้อตกลง ก็เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ ร้อยละ 13 ระบุว่า ความพึงพอใจจากทุกฝ่ายของผู้เสียหาย เป็นตัวชี้วัดที่ควรกำหนดไว้ด้วยเพื่อประเมินความสำเร็จของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

สำหรับมาตรฐานระหว่างประเทศและการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปใช้ในต่างประเทศ ศ.เกียรติคุณ อิวอง แดนดูแรนด์ ผู้วิจัยหลักที่ร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเทศไทยได้สะท้อนในงานเสวนาว่า ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของแคนาดา มีมาตรฐานระหว่างประเทศในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดตามข้อกำหนดของสหประชาชาติฯ ที่กระบวนการยุติธรรมของทุกรัฐจะต้องดำเนินการตามแผนแม่บท และส่งเสริมความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์

โดยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในกระบวนการเยียวยาของผู้ที่ถูกกระทำ ด้านผู้กระทำผิดก็มีโอกาสหวนกลับไปทำผิดซ้ำน้อยลง ขณะเดียวกันก็สามารถทำให้ผู้ที่กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้อย่างดีมากขึ้น และยังทำให้คนในชุมชนมีความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ กระบวนการสมานฉันท์นอกจากจะใช้ได้ดีกับคดีอาญาทั่วไปแล้ว ยังใช้ได้ดีกับคดีร้ายแรงที่ผู้เสียหายและผู้กระทำผิดเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาก่อน เพราะเมื่อผู้เสียหายกับผู้กระทำผิดได้พบกันจะมีการปฏิสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งเป็นเป้าหมายในกระบวนการ แต่สิ่งสำคัญของการทำงานจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกันจะต้องรักษาความลับของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการด้วย

ส่วนสิทธิของผู้เสียหายและผู้กระทำผิด ในการเข้าร่วมกระบวนการนี้ ผู้กระทำผิดมีสิทธิ์ที่จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย เพื่อที่จะได้ตัดสินใจ โดยรู้ถึงข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะในกรณีของผู้เยาว์ที่เข้าร่วมในกระบวนการนี้จะต้องมีผู้ปกครอง หรือผู้คุ้มครองคอยช่วยตัดสินใจ เช่นเดียวกันผู้ที่ถูกกระทำจะต้องรับทราบถึงผลจากกระบวนการเชิงสมานฉันท์ หากตัดสินใจเข้าร่วม ขณะเดียวกันผู้เสียหายมีสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วม ดังนั้น ความยินยอมของทั้งสองฝ่ายจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยผู้เสียหายและผู้ที่กระทำผิดไม่ควรจะถูกบังคับ

 

ด้าน นางสันทนี ดิษยบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสถาบันนิติวัชร์ สำนักอัยการสูงสุด มองว่า แม้ที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์จะถูกมองว่าเป็นทางเลือก แต่ในมุมของเธอ เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์สามารถนำมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนได้ โดยยกสถิติของผู้กระทำผิดในคดีอาญาของศาลชั้นต้นปี 2562 มีคดีถึง 612,830 คดี ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 103,121 คดี แต่มีคดีที่รอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษถึง 265,840 คดี แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมส่งผู้ต้องหาเข้ามาสู่กระบวนการของศาล แต่กลับยังไม่ตัดสินลงโทษ และหากดูย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2556 จะพบว่า มีผู้ที่กลับไปกระทำความผิดซ้ำถึงร้อยละ 30 เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นว่า แนวทางของกฎหมายที่ยังคงมุ่งเน้นการแก้แค้นทดแทน แม้มีการตัดสินลงโทษเยอะ แต่ผู้ต้องหากลับไปทำความผิดซ้ำไม่ลดลง

คดีล้นศาล นักโทษล้นคุก” คือสัญญาณที่บ่งบอกว่า กระบวนการยุติธรรมไม่มีประสิทธิภาพ
นางสันทนี จึงเห็นว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ จะเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยแก้ปัญหา
พร้อมยกตัวอย่างหลายคดีที่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักยังไปไม่ถึง เช่น คดีที่กระทำความผิดไปโดยไม่ได้ตั้งใจ จะใช้วิธีดูความประพฤติตัวของจำเลย เพื่อพิจารณารอการลงโทษ ในสำนวนคดีจึงมีเกียรติบัตรการทำความดีแนบมาด้วย ซึ่งกลายเป็นการมองความดีในอดีตของจำเลย แต่ไม่ได้มองถึงแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมในอนาคต นั่นหมายความว่า เรากำลังให้ความสำคัญกับ “คำรับสารภาพ” มากกว่า “กระบวนการที่จะให้เกิดความสำนึกผิด” 

“การรับสารภาพกับการสำนึกไม่เหมือนกัน การรู้สำนึกในการกระทำผิด คือ ตระหนักว่าผิด เสียใจ รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา และร่วมรับผิดเยียวยาความเสียหาย เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ซึ่งต่างจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก”

“เมื่อกว่า 10 ปีก่อน มีคุณลุงร่วมกับเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านไปกู้เงินจาก อบต. ตามนโยบายของรัฐเพื่อมาดำเนินกิจกรรมในชุมชน แต่เมื่อได้เงินมาแล้ว กลับไม่สามารถทำกิจกรรมตามที่ตั้งใจไว้ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องกฎระเบียบในชุมชน ทำให้ อบ.ต้องฟ้องเรียกร้องเอาเงินคืน ผ่านไปกว่า 10 ปี คุณลุงกับเพื่อน ๆ ไม่ได้คุยกันอีก ทำให้จำเลยที่เคยที่สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายร่วมกันไม่ได้ชดใช้ ศาลจึงเรียกทุกคนมาไกล่เกลี่ยตามกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ได้คุยและตกลงกัน ได้ผลสรุปว่า คนในชุมชนจะช่วยคุณลุงผ่อนจ่ายตามกำลังที่มีในแต่ละเดือน ทำให้คุณลุงกลับมามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านอีกครั้ง” นางสันทนี ยกตัวอย่างเพื่อฉายภาพกระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ในชุมชนให้ชัดเจนขึ้น 

นายอติรุจ ตันบุญเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดชลบุรี มองถึงความท้าทายของศาลในการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดยระบุว่า เมื่อศาลมีนโยบายให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีมากขึ้น ซึ่งให้ความสำคัญน้อยลงกับการใช้หลักทรัพย์ประกันตัว เปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกับคนที่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ดังนั้นศาลจึงพยายามเชื่อมกับชุมชนตามภูมิลำเนาของผู้ต้องหาที่ผ่านกระบวนการปล่อยตัวชั่วคราวให้มากขึ้น ด้วยการตั้งเงื่อนไขให้ผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวต้องตั้งผู้กำกับดูแลที่มาจากชุมชน เป็นคนที่ทำหน้าที่คอยสอดส่องไม่ให้ผู้ที่ถูกปล่อยตัวไปก่ออันตรายหรือมีพฤติกรรมเดียวกันกับที่ถูกฟ้องร้อง 

สำหรับการยกระดับบทบาทของผู้เสียหาย ที่บางกรณีมีความรู้สึกว่าถูกกระทำซ้ำในความผิดบางอย่าง หรือการไม่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ เพราะกระบวนการไกล่เกลี่ยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ค่าเสียหายที่เป็นเงิน ปัจจุบันในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีการให้ความสำคัญกับการเยียวยาผู้เสียหาย โดยเฉพาะการไกล่เกลี่ย ซึ่งมีผู้ประนีประนอมประจำศาลในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่อยู่ในชุมชน และเพื่อให้การเจรจาไกล่เกลี่ยมีผลในการปฏิบัติจริง ศาลจะมีการระบุเงื่อนไขในกระบวนการคุมประพฤติ

ตอนนี้มีกระบวนการช่วยเหลือเพื่อไกล่เกลี่ยให้กับผู้เสียหายในชั้นศาลทำได้รวดเร็วขึ้น
ที่ผ่านมา กว่ากระบวนการจะมาถึงศาลต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้ความต้องการหรือสิ่งที่ผู้เสียหายได้รับผลกระทบเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งที่เสียหายนั้นยากที่จะฟื้นคืนหลังผ่านระยะเวลามานาน ดังนั้น จึงเกิดช่องทาง ในการแสดงความประสงค์ว่าต้องการได้รับการเยียวยาตั้งแต่เพิ่งเกิดเหตุคดี จึงมีการจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลผู้เสียหาย เพื่อปฏิบัติภารกิจนี้ โดยไม่ต้องรอให้เรื่องมาถึงศาล แต่สามารถร้องขอเพื่อให้ไกล่เกลี่ยได้ทันที

ส่วนการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ในกรณีอื่น เช่น การปกป้องสิทธิของชุมชน โดย นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในกระบวนการสิทธิชุมชน ควรนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาใช้เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคดีอาญาสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกพื้นที่อุทยานโดยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เขาเคยอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมาหลายชั่วอายุคน เราควรมีทางออกให้กับพวกเขา ให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ ต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่มุ่งจำคุกแต่เพียงอย่างเดียว หรือแม้กระทั่งกรณีครอบครัวคนไข้ฟ้องบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน ดังนั้น ... ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีอยู่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะให้อำนาจกับประชาชนในการจัดการความขัดแย้งได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อไปศาล

ท้ายสุด ดร. พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
เน้นย้ำว่า หัวใจของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ การร่วมกันของทุกฝ่าย และเน้นผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เป็นกระบวนการที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โดยอาศัยการมีส่วนร่วม และสร้างความเข้าใจร่วมกับชุมชน แม้ว่าปัจจุบันยังมีความท้าทายที่กระบวนการยุติธรรมเผชิญอยู่ เช่น คดีที่ขึ้นสู่ศาลและนักโทษที่มีจำนวนมากในแต่ละปี การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งการแก้ไขกฎหมายบางฉบับก็ไม่อาจทำได้ง่ายก็ตาม

ดังนั้น รายงานวิจัย Harmonious Justice: Thailand’ s Approach to Restorative Justice 
และ “คู่มือสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (ปรับปรุงครั้งที่ 2) ฉบับแปลภาษาไทย” ที่คณะผู้วิจัย TIJ ได้ศึกษาวิจัย และเรียบเรียงขึ้นมา จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ทำงานในกระบวนการยุติธรรมนำไปปรับใช้ ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงช่วยทำให้สามารถเยียวยา แก้ไขอุปสรรคต่าง ๆ ที่กระบวนการยุติธรรมของไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการบังคับใช้

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานวิจัยฯ และ คู่มือสหประชาชาติฯ (ฉบับภาษาไทย) ได้ที่ 

https://knowledge.tijthailand.org/en/publication/detail/harmonious-justice-thailand-s-approach-to-restorative-justice#book/ และ

https://knowledge.tijthailand.org/th/publication/detail/handbook-rj-programmes-2edition#book/