ทีเส็บร่วมมือกับภาครัฐภาคเอกชน จัดกิจกรรม GTEC ROADSHOW 2023

เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ผ่านกลไกลไมซ์ ด้วยการยกระดับงานแสดงสินค้า OTOP

 

ปัจจุบันตลาด E-Commerce ของจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีจำนวนผู้บริโภคเป็นจำนวนมหาศาล จึงมีการแข่งขันที่สูงมาก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาความต้องการสินค้าไทยในตลาด E-Commerce ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก และคนจีนรุ่นใหม่ก็มีกำลังซื้อ ยิ่งสร้างโอกาสทองให้สินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าจากชุมชนที่มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป ล่าสุด ทีเส็บ จึงได้ร่วมกับภาครัฐภาคเอกชน ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชน OTOP TRADER ประเทศไทย สมาคมการค้าอาเซียนอีคอมเมิร์ซ แอนด์ โลจิสติกส์ และ LEVEL UP THAILAND จัดกิจกรรม GTEC ROADSHOW 2023 ขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสและช่องทางทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนผ่านกลไกลไมซ์ ด้วยการยกระดับงานแสดงสินค้า OTOP โดยการเพิ่มองค์ประกอบของกิจกรรมสัมมนาและเจรจาจับคู่ทางธุรกิจภายงาน OTOP ศิลปาชีพประทีปไทย ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้าที่มีศักยภาพและเป็นศูนย์รวมสินค้าบริการทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นไทยที่เป็นอัตลักษณ์จากทั่วประเทศ โดยการเชิญ Potential Buyer จากจีนที่มีกำลังซื้อสูงที่สนใจนำสินค้าชุมชนของไทยไปทำตลาดในช่องทาง Online หรือ E-Commerce ร่วมกิจกรรม Business Matching กับผู้ผลิตจากชุมชนที่มีศักยภาพ

ด้าน ดร. ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ สสปน. หรือ ทีเส็บ กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรม GTEC ROADSHOW 2023 ในครั้งนี้ ทีเส็บได้เรียนเชิญ Potential Buyer จากตลาด Online และ E-Commerce ของจีน จำนวนกว่า 20 รายร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและเจรจาจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชน ภายในงาน OTOP ศิลปาชีพประทีปไทย ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของงาน OTOP ที่สามารถยกระดับสู่การมีองค์ประกอบของงานเจรจาธุรกิจ เนื่องจากมีการรวบรวมสินค้าชุมชนจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่ตลาดจีนต้องการ อาทิ เครื่องประดับแนวแฟนซี ผลไม้อบแห้งและอาหารสำเร็จรูปจากชุมชน รวมถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพจากชุมชน เพื่อให้งาน OTOP เป็นงานแสดงสินค้าที่เป็นเป้าหมายของผู้ซื้อชาวจีนมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าการเชิญกลุ่ม Potential Buyer เข้าร่วมในครั้งนี้ จะเกิดมูลค่าการจับคู่ทางการค้าหลังงานไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

ด้าน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่ากรมการพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักงาน OTOP ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความเจริญเติบโตและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้ตรงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งกรมให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยกรมฯ ดำเนินการพัฒนาสินค้า และบริการชุมชนในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย การพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) การส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge – Based OTOP : KBO) โดยเฉพาะโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Premium สู่สากล เพื่อเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการชุมชนได้เข้าถึงตลาดกำลังซื้อสูง ซึ่งการจัดกิจกรรม GTEC ร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนได้เข้าถึงผู้ซื้อที่มีศักยภาพได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ ประธาน OTOP TRADER ประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือ ของ OTOP TRADER นั้น เราทำหน้าที่เป็นคนกลาง รวบรวมสินค้า มองตลาด บริหารจัดการ แล้วขายสินค้าให้กับผู้ผลิตสินค้าโอทอปอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตที่ไม่ถนัดเรื่องการตลาด สามารถเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น และยังสามารถพัฒนาคุณภาพสินค้าได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยจะเป็นตัวเชื่อมระบบการขายทั่วประเทศนำสินค้าจากพี่น้องประชาชนเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรด หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ โดยจะถูกคัดเลือกมาจากผู้ผลิตสินค้าโอทอป หรือผู้ประกอบการศูนย์ขายสินค้าโอทอป หรือของฝากที่มีประสบการณ์สูง มีความกระตือรือร้น มองตลาดเก่ง วิเคราะห์เชิงธุรกิจเป็น มีความรู้ด้านการบริหารจัดการ ซึ่งความร่วมมือกันของกิจกรรม GTEC ในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับไปอีกก้าวที่สำคัญของเรา ในการเพิ่มช่องทางไปยังตลาด E-Commerce ที่มีกำลังซื้อสูงจากจีน ซึ่งการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการชุมชนภายในงาน OTOP เป็นอย่างมากเลยทีเดียว

ด้าน คุณพัฒนา สิทธิสมบัติ ที่ปรึกษาสมาคมการค้าอาเซียนอีคอมเมิร์ซ แอนด์ โลจิสติกส์ กล่าวว่า ปัจจุบันโควิดส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าสู่การค้าในโลกยุคดิจิทัล การค้าออนไลน์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้ประกอบการทั่วโลกรวมถึงผู้ประกอบการชุมชน ต้องหันมาใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งในลักษณะช่องทางเสริม ช่องทางหลัก หรือแบบผสมผสาน ผ่านช่องทางตลาด Online หรือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่าในปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ใช้มากถึง เกือบ 60 ล้านคนแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า E-Commerce มีบทบาทต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น รวมถึงการค้าระหว่างประเทศผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือที่เรียกว่า Cross-border E-Commerce (CBEC) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่า CBEC ทั่วโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าราว 3 ล้านล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME ชุมชน สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้อย่างประสบความสำเร็จได้นั้น นอกจากจะต้องใช้การใช้แพลตฟอร์มที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลกแล้ว ผู้ประกอบการ SME จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละตลาดเป้าหมาย ซึ่งมีความแตกต่างกันทั้งในมิติเชิงพื้นที่ และประชากรศาสตร์ (demographic) เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีการบูรณาการกลยุทธ์หรือเทคนิคต่าง ๆ เช่น มีการเปิด online store เคียงคู่ไปกับหน้าร้าน หรือที่เรียกว่า Omni-Channel Marketing ซึ่งการจัดกิจกรรม GTEC ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีที่จะช่วยตอบโจทย์ข้อจำกัดข้างต้นได้เป็นอย่างดี ผ่านกิจกรรมเจรจาทางธุรกิจและกิจกรรมสัมมนาในครั้งนี้