“ทำไมต้องเข้ากระบวนการนี้ด้วย ใครจะอยากไปสมานฉันท์กับคนอย่างมันคนที่ทำให้ ผัวของพี่ตายอ่ะเหรอ?” เสียงตอบโต้เปี่ยมอารมณ์ผสมทั้งความแค้นเคืองและความไม่เข้าใจของ ผู้หญิงคนหนึ่งเธอคือผู้เสียหายอยู่ในสถานะชีวิตพังต้องกลายเป็นม่ายสามีตายแต่ถูกชักชวนให้เข้าร่วม
กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เรื่องใหม่ที่เธอทั้งไม่เข้าใจและขุ่นเคืองใจที่ต้องให้อภัย คนที่ก่อเหตุหรือผู้กระทำผิด

 

เรื่องราวสะเทือนอารมณ์นี้ถูกนำมาเล่าเรียงร้อยพร้อมข้อมูลองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการ ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดีเรื่อง”ก้อนหินที่หายไป” อำนวยการผลิตโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ เปิดฉายครั้งแรก เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการรับรอง ข้อมติสหประชาชาติ เรื่องหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ในเรื่องทางอาญา ที่จัดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ในระบบผ่าน Zoom และ Facebook Live ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

 

ภาพยนตร์สั้นเรื่องก้อนหินที่หายไปนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานสื่อที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเสริมความ เข้าใจต่อสาระสำคัญและประโยชน์ของการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์มาปรับใช้ในกระบวน การยุติธรรมของไทย

 

ภาพยนตร์อ้างอิงโครงเรื่องและคดีอาญาจากเหตุการณ์จริง คดีวัยรุ่นปาหินรถตู้ (2547-2561) วัยรุ่นปาหินใส่รถตู้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต เมื่อปี พ.ศ.2547 และคดีจบลงอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2561    ด้วยการรับผิด ชดเชย สำนึกผิด ขอโทษและการให้อภัยระหว่างคู่กรณี (วัยรุ่นที่กระทำผิด กับ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นภรรยาของผู้เสียชีวิต) กลายเป็นตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้   ดังที่ตัวละครฝ่ายทนายความเอ่ยตั้งคำถามในหนังสั้นว่า “สิ่งที่แทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยคือ ใครจะสามารถให้อภัยคนที่ก่อเหตุทำให้สามีตัวเองตา แต่การใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ทำให้ “มันเป็นไปได้” 

 

กระบวนยุติธรรมเชิงสมานท์ฉันท์ (Restorative Justice หรือ RJ) เป็นส่วนเสริมในกระบวน การยุติธรรมที่มีอยู่เดิมส่งเสริมให้ผู้กระทำผิด ได้สำนึกผิด และชดเชย ความเสียหาย ที่ได้ตนก่อขึ้น การเยียวยา ไม่จำเป็นต้องเป็น เงิน แต่อาจเป็นการเลิกพฤติกรรมที่ไม่เป็นที่ยอมรับ หรือ การช่วยให้ ผู้กระทำผิด กลับตัว กลับใจ กลับไปสู่สังคมอย่างมีคุณภาพได้จริง กระบวนการนี้มุ่งเน้นเยียวยาจิตใจผู้เสียหาย รวมถึง ชดเชยสิ่งต่างๆ ที่ได้สูญเสียไป และการดูแลแก้ไขส่วนอื่นๆ ตามที่คู่กรณีได้ตกลงกันไว้  ที่สำคัญที่สุด ทั้งสองฝ่ายต้องยินยอมพร้อมใจ

 

เนื้อหาภาพยนตร์ “ก้อนหินที่หายไป”  เสนอมุมมองรอบด้าน ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ เท่าเทียมกัน ชีวิตของสามีผู้เสียหายเสียไปอย่างไม่อาจฟื้นคืนมาได้ แต่ชีวิตของภรรยาที่ยังมีอยู่ได้รับการฟื้นฟู ถึงเบื้องลึกเช่นเดียวกับผู้กระทำผิดที่ได้ชดใช้และฟื้นฟูศักยภาพมนุษย์จากกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  ที่มุ่งเยียวยา ฟื้นฟู มนุษย์อย่างรอบด้านของทั้งผู้กระทำ (ก่อเหตุอาชญากรรม) และ “การรับผิด การสำนึกผิด คำขอโทษ และการให้อภัย” อันเป็นหัวใจของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เพื่อให้ทุกคนอยู่ในสังคม ได้อย่างสันติสุข

 

ทั้งนี้ ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือและร่วมแรงทั้งคู่กรณี ผู้เชี่ยวชาญ  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจ ทนาย ฝ่ายศาล เจ้าหน้าที่ควบคุม ความประพฤติ นักจิตวิทยา รวมไปถึงคนชุมชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ต้องเข้าถึงชุมชน

 

ในงานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของการรับรองข้อมติสหประชาชาติ เรื่องหลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ใน เรื่องทางอาญา เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริม กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ งานเสวนาฯ จัดขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานต่าง ๆ และกิจกรรมอันเกิดจากความร่วมมือระหว่าง TIJ และภาคีที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ภายใต้บริบทของสังคมไทย

“ภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดีนี้จัดทำขึ้นโดยมุ่งหวังสร้างความเข้าใจในการจัดกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้ชมที่สนใจได้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยยังมุ่งส่งเสริมโครงการรณรงค์เชิงนโยบายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนโดยจัดทำค่ายเยาวชน เน้นการรับฟังและสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ผ่านมุมมองของเยาวชนในการนำมาประยุกต์ใช้ภายใต้บริบทของสถานศึกษาในประเทศไทย” ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดงาน

“ในภาคการศึกษา คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมูลนิธิเครือเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งมาร่วมกับ TIJ เป็นกลุ่มนำร่องในการจัดกิจกรรมส่งเสริม RJ in School
ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจกลุ่มเยาวชนและครูที่เกี่ยวข้องในการระงับข้อพิพาทในโรงเรียน”ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่ง ประเทศไทย กล่าวเสริม

ภายในงานเสวนาจะได้รับชมวิดีทัศน์หัวข้อ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์กับความยุติธรรมทางอาญา โดย Yvon Dandurand ศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขาอาชญาวิทยาและ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแห่งแฟรเซอร์แวลลีย์ แคนาดา/นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/ นายวงศ์เทพ อรรถไกวัลวที ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยและอดีตรองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน/ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

รวมถึง เวทีเสวนา หัวข้อ การส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ โดย

  • ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดีเรื่อง “ก้อนหินที่หายไป”
  • คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือผู้แทน
  • ประธานฝ่ายการศึกษามูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน
  • คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หรือผู้แทน
  • อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม หรือผู้แทน
  • นำเสนองานวิจัยและดำเนินการเสวนา โดย นายอุกฤษฏ์ ศรพรหม ผู้จัดการโครงการการสนับสนุนงานด้านหลัก นิติธรรม

 

 

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ยังคงมุ่งมั่นผลักดันให้มีการใช้ของการนำ กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ไปปรับใช้ในทุกขั้นของการดำเนินงาน ด้านความยุติธรรมในประเทศไทย และการทำความเข้าใจให้ความรู้กับทุกฝ่ายรวมถึงสังคมทั่วไปเป็นภารกิจสำคัญ

 

นอกจากการจัดฉายในงานเสวนาวิชาการครั้งนี้แล้ว ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมภาพยนตร์สั้น “ก้อนหินที่หายไป” ได้ทางช่องยูทูบ “TIJ Just Right Channel” โดยหวังว่าเรื่องราวกินใจในชีวิตจริงที่ กลายมาเป็นละครสอนสังคมในหนังสั้นเรื่องนี้ จะช่วยสร้างพลังให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนขับเคลื่อนและนำ “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” ไปปรับใช้ในการจัดการคดีความ หรือ ข้อพิพาท ในกระบวนการยุติธรรม และในสังคมต่อไปได้