ความฝันในการสร้าง “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) นั้นเป็นจริงได้ ด้วยการนำเทคโนโลยีชั้นสูงมาอำนวยความสะดวก เหมือนอย่างในประเทศชั้นนำของโลก ที่ทุกอย่างได้รับการเชื่อมโยงกันผ่านระบบฐานข้อมูล นำไปสู่การปรับปรุงสร้างสังคมที่ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้มีระบบคมนาคม การจัดการพลังงาน ระบบบริการของเมืองที่ดี และระบบสาธารณสุขอัจฉริยะ เรื่อยไปจนถึงจัดการบ้านอัตโนมัติ โรงงานอัจฉริยะ และเกษตรกรรมอัจฉริยะ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (The 10th Public Forum on the Rule of Law and Development: Resilient Leaders in Action) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดให้ผู้เรียนหลักสูตร RoLD Program (Rule of Law and Development Program) อันประกอบด้วยผู้คนหลากหลายแวดวงและช่วงวัย มาร่วมระดมความคิดหาหนทางแก้ไข ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ มาช่วยแนะแนวทาง และนำเสนอผลงานการศึกษา เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอนาคตร่วมกัน

 

เทคโนโลยีส่งเสริมโอกาสเข้าถึงความเป็นธรรม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ที่แฝงฝังอยู่ในมิติต่าง ๆ ของสังคมไทยมาเนิ่นนาน ถูกขับเน้นและนำออกมาตีแผ่ให้เห็นชัดเจน ในช่วงวิกฤตการณ์ระบาดของโควิด-19 เมื่อการจัดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนต่าง ๆ มีความติดขัดในเรื่องการประสานงานหรือฐานข้อมูลสำหรับผู้ปฏิบัติงาน

 

แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) ถือเป็นอีกแนวทางที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตของผู้คนได้ นายเลิศรัตน์ รตะนานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader และได้ดำเนินโครงการศึกษาเรื่องแนวคิดการพัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยี (Open Data & Technology for Better Living) เพื่อค้นหาวิธีสร้างฐานข้อมูลและวางกลไกการรวมศูนย์ข้อมูล ที่จะช่วยการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกดิจิทัล ของพื้นที่นำร่องจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและธุรกิจ มีความปลอดภัยสูง และลดโอกาสการเกิดอาชญากรรม

 

 

รศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อธิการบดี มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล อธิบายถึงหลักกว้างๆ ของ Smart City ว่าเป็นเมืองที่มีเทคโนโลยีมีระบบต่าง ๆ ที่ดี ทั้งการจราจร การบริหารพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรกรรม มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ มีความเป็นอัตโนมัติ เพื่อให้บริการที่ดี และมีหลักธรรมาภิบาล

จากการลงพื้นที่ของผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020 พบว่าปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการแก้ไขปรับปรุงมากที่สุด คือการได้รับการดูแลความยุติธรรม มีการบริหารจัดการที่ดี ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทุกอย่างนี้หากทำได้ก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน ทำให้คนในเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข สงบ และปลอดภัย สามารถพัฒนาเมืองต่อไปได้

 

 

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการกองตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงปัญหาด้านอาชญากรรมว่า หลังจากลงพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่าประชาชนจะมีความสุข หากเมืองปลอดภัย โดยได้ข้อมูลจากหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือหลายหน่วยงาน

ปัญหาหลักที่พบในจังหวัดเป็นปัญหาอาชญากรรม 3 กลุ่ม คือยาเสพติด จราจร และความเดือดร้อนที่ไม่ใช่คดีอาญา อันได้แก่ร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ ที่หากไม่สามารถตอบสนองได้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลและการติดตามผลระหว่างหน่วยงาน

ดังกรณีศึกษาพื้นที่นำร่อง พบว่าเราสามารถใช้ประโยชน์ “Data” ด้วย

  1. 1. Ticketing System รับเรื่องร้องเรียนเป็นระบบไปส่วนกลาง มีการเฝ้าติดตามระยะเวลาการดำเนินการตามที่คาดหวัง
  2. 2. AI Chatbot ช่วยตอบคำถามเบื้องต้นแก่ประชาชน ที่ต้องการใช้บริการมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่
  3. 3. Social Listening รับฟังเสียงสะท้อนในโลกออนไลน์ โดยมีการแยกกลุ่มว่าเป็นเรื่องร้องเรียน เรื่องที่มีความจำเป็นหรือเรื่องเร่งด่วน ก่อนจะกระจายให้ทีมงานร่วมกันดำเนินการ
  4. 4. Single Page Dashboard ผู้บริหารหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องมองเห็นภาพรวมของปัญหา บอกได้ว่าแต่ละวันจังหวัดพบปัญหาอะไรบ้าง

หากมีการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมาทำงานควบคู่ไป ในจังหวัดจะเห็นว่าเป็นปัญหาด้านไหน ต้องพัฒนาอะไรต่อไปเพื่อแก้ปัญหาในอนาคต และการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

 

ฐานข้อมูลกระบวนการยุติธรรมที่แม่นยำ

อย่างไรก็ตาม เพื่อนำไปสู่ระบบเมืองอัจฉริยะ ก่อนอื่นต้องเริ่มจากมีฐานข้อมูลกระบวนการยุติธรรมที่แม่นยำ โดยต้องมี Cloud Big Data ในกระบวนการยุติธรรม ในมุมของ ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งและคณะกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามเมทริกซ์ คอนซัลติ้ง จำกัด มองว่า ข้อมูลที่เรานำมาใช้งานได้ต้องมีลักษณะ :

– ประสิทธิผล ช่วยให้เกิดปัญหาในชีวิตคนเมืองน้อยลง

– ประสิทธิภาพ ทำให้แก้ปัญหาได้เร็ว มีปัญหาแล้วไม่เสียหายเท่าเดิม

– ความไม่เอนเอียง คือคุณภาพของการบริการเท่าเทียมทุกท้องที่ทุกชนชั้น

จากกรณีศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำข้อมูลจากหลายๆ ด้าน ทั้งข้อมูลร้องเรียน ข้อมูลคดีจราจร และข้อมูลคดีอาญา มารวบรวมให้กลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ (Intelligence) ได้ในหลายกรณี เช่น ใช้ข้อมูลเป็น KPI เพื่อวัดผลงานตนเอง และสามารถเจาะลงไปในแต่ละประเภทได้ว่ามีปัญหาอะไรบ้างในเมือง จะได้ใช้ทรัพยากรที่จำกัดได้อย่างเป็นประโยชน์คุ้มค่า

การนำข้อมูลอื่น ๆ มาใช้ประกอบกัน เช่น Hotspot Analysis เพื่อติดตามอุบัติเหตุทางถนน และการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ พบว่ามีการกระจายในหลายพื้นที่ อาจเป็นเพราะแสงสว่างบนท้องถนนไม่เพียงพอ และ Predict Trend เพื่อให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น เช่นบางพื้นที่มีคดีอยู่มากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเร่งเข้าไปแก้ไข

 

 

 

แนวทางลดความเหลื่อมล้ำในโลกดิจิทัล

การที่ผู้บริหารในทุก ๆ ระดับ นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความเป็นธรรมเท่าเทียมให้กับโลกอนาคต นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่าหลักคิดที่จะขับเคลื่อนให้สังคมไทยก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน คือความเป็นธรรม (Fairness) ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาค แต่ต้องคำนึงถึงผลจากการปฏิบัตินั้น ว่าก่อให้เกิดความเท่าเทียมหรือไม่ เพราะต้นทุนหรือบริบทของแต่ละกลุ่มคนและภาคส่วนล้วนแตกต่างกัน

นอกจากการนำแนวคิดและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาเมือง ตามที่ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020ได้ดำเนินการศึกษาแล้ว นายผยง ศรีวณิช ยังได้ขยายมุมมองของเรื่องนี้ออกไปประยุกต์ใช้ในมิติที่กว้างขึ้น โดยยกกรณีศึกษาของธนาคารกรุงไทย ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งนำเทคโนโลยีจะเข้ามาใช้ใน 4 มิติ ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา และด้านสุขภาพ

รวมถึงกรณีศึกษาการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรณีอื่น ๆ เช่น การร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และมูลนิธิรักษ์ไทย ในการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินไปช่วยเหลือชุมชนคนขับเรือและชาวประมงเกาะเต่าที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรุนแรง เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว สร้างพื้นฐานต่อยอดอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมมีโอกาสตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ SDGs ของสหประชาชาติอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี e-donation มาให้ช่วยเหลือชุมชนเกาะเต่า เป็นต้น

“เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงความเป็นธรรมแก่คนไทยทุกคน ต้องร่วมกันให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น” นายผยง กล่าวสรุป