ดัชนีชี้วัดความเปราะบาง (The Child Vulnerability Index – CVI) ชี้ให้เห็นสถานการณ์เด็กในประเทศไทย ว่ามีเด็กที่มีโอกาสกลายเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 42.2 โดยเด็กกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งได้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองเด็กและต้องอยู่ในสถานรองรับ ตัวเลขที่ควรให้ความสนใจคือใน 5 ปีที่ผ่านมา มีเด็กเข้าสถานการณ์รองรับของรัฐ 29,054 คน

สวัสดิการสำหรับเด็กที่เราควรจัดให้อย่างเหมาะสม คือการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care) ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกให้ความใส่ใจในประเด็นนี้ เพื่อส่งเสริมให้เด็กกลุ่มเปราะบางได้ ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะได้กลับสู่สังคมไปเป็นพลังของประเทศชาติได้ต่อไป

 

บนเวทีสาธารณะว่าด้วยหลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 10 (The 10th Public Forum on the Rule of Law and Development: Resilient Leaders in Action) โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดให้ผู้เรียนหลักสูตร RoLD Program (Rule of Law and Development Program) อันประกอบด้วยผู้คนหลากหลายแวดวงและช่วงวัย มาร่วมระดมความคิดหาหนทางแก้ไข ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในสังคมไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ มาช่วยให้แนะแนวทางและนำเสนอผลงานการศึกษา เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับกลุ่มเด็กเปราะบาง

 

 

แนวทางจัดสวัสดิการสำหรับเด็ก

 

ปัญหาเด็กกลุ่มเปราะบางนั้นมีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ดร.พัชชา เจิงกลิ่นจันทร์
รองคณบดี ฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้นำเสนอข้อมูลของเด็กกลุ่มที่เรียกว่า “เรามองไม่เห็น” ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมอาจจะหลงลืมไปว่าพวกเขาก็เป็นเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องและการดูแล

เราสามารถแยกได้เป็น 3 รูปแบบคือ

  1. 1. เด็กที่มีปัญหาการใช้ความรุนแรงทางพฤติกรรม ใช้สารเสพติด หรือเป็นอาชญากร สังคมมักจะคาดหวังว่าพวกเขาจะควบคุมตนเองได้ แต่จริง ๆ แล้ว เด็กกลุ่มนี้ต้องการได้รับการคุ้มครอง
  2. 2. เด็กทั่วไปที่มีรายละเอียดของปัญหา หรือรายละเอียดชีวิตที่แตกต่างกัน และเรามักจะหลงลืม เช่นเด็กขายพวงมาลัย ที่แม้ว่าเราจะเห็นพวกเขาอยู่ทุกวัน แต่เราไม่เคยทราบว่า รายละเอียดชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร และอะไรทำให้พวกเขาต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้
  3. 3. เด็กที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสภาพจิตใจ การปรับตัว การเข้าสังคม เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ และเรามักลืมไปว่า เด็กทุกคนสามารถที่จะพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพได้ หลายคนไม่กล้าแตะปัญหา ไม่กล้าเข้าไปเยียวยาฟื้นฟู จึงทำให้ปัญหาถูกหมักหมมซุกซ่อนไว้

เป้าหมายของการจัดสถานรองรับที่เหมาะสมนั้น เพื่อทำให้เด็กรู้สึกถึงความผูกพัน และรู้สึกถึงความมีตัวตน เคารพคุณค่าของเด็ก เชื่อว่าพวกเขาสามารถพัฒนาได้ ไม่ใช่เพื่อการแยกหรือตัดขาดพวกเขาออกจากสังคมภายนอก

  1. 1. การสร้างบรรยากาศสถานรองรับให้เป็นครอบครัว เปลี่ยน House ให้เป็น Home
  2. 2. การจัดทำแผนพัฒนารายบุคคล โดยวางแผนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ อาจจะมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้เด็กได้รับการเยียวยาและสนับสนุนให้ได้ทำสิ่งที่พวกเขาต้องการ เช่นฝึกเล่นดนตรี หรือทำอาหาร
  3. 3. การสร้างบรรยากาศทางสังคมที่เป็นมิตรกับเด็ก
  4. 4. เตรียมความพร้อมก่อนกลับสู่ครอบครัวหรือออกสู่สังคม โดยการเตรียมสภาพแวดล้อมของครอบครัว เตรียมการเรียนหรืออาชีพการงาน ให้เด็กได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างปกติสุข
  5. 5. การสร้างระบบติดตามและสนับสนุนทางจิตสังคมหลังออกจากสถานรองรับ จะทำโดยการเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

 

มองสถานการณ์ในความเป็นจริง

 

นางคณพร ฮัทชิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกรย์เอ็นเจ ยูไนเต็ด จำกัด ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader และได้ดำเนินโครงการศึกษาเรื่อง “เกราะป้องกันของกลุ่มเปราะบาง” Finding the Invisible Child: ONE LOVE Project ได้เล่าถึงการดำเนินงานของทางกลุ่ม โดยตั้งโครงการ sand box ที่สถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ระยอง

ปัญหาที่พบก็คือเด็ก ๆ ที่นี่เป็นเด็กที่ถูกทอดทิ้ง ถูกใช้ความรุนแรง ขาดความรัก ไม่มีความหวังในชีวิต เมื่อไม่ได้รับความรักและไม่มีความหวังในชีวิต ไม่รู้ว่าจะอยู่ไปทำไม พวกเขาก็แสดงอาการก้าวร้าว หรือก่ออาชญากรรม กลายเป็นวงจรของความเจ็บปวด เมื่อเข้าไปสังเกตการณ์และพูดคุยกับเด็กกลุ่มนี้จริง ๆ พบว่าหลายคนยังมีความหวัง มีความฝัน อยากมีอาชีพ และอยากทำหลายอย่างในชีวิต เพียงแต่พวกเขาไม่มีโอกาส

จึงเกิดโครงการ ONE LOVE Project เพื่อเปลี่ยนเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่เคยมีใครมองเห็นเขามาก่อน ให้เป็นคนที่มีโอกาสในการแสดงศักยภาพ โดยไม่ใช่เพียงการเข้าไปช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว แต่เป็นการทำให้เกิด Lifetime Growth ที่จะดึงศักยภาพในตัวพวกเขาออกมา โดยการให้ความรัก ความเชื่อใจ และโอกาสดี ๆ เพื่อให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกได้รับความรักจากครอบครัว เกิดเป็นขั้นตอนการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และติดตาม

 

สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นด้วยตา

 

ในมุมมองของ นางณฤดี คริสธานินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเรก้า โกลบอล จำกัด แม้ภายในสถานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ระยองจะมีพื้นที่กว้างขวาง มีความร่มรื่น แต่ชุมชนแวดล้อมยังมองสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่กักกันเด็กกระทำความผิด โรงเรียนใกล้เคียงไม่อยากรับเด็กเหล่านี้เข้าไปเรียน ผู้ประกอบการก็ไม่อยากรับเข้าไปทำงาน

ทีมผู้ศึกษาได้เข้าไปพูดคุยกับเด็ก ๆ ผู้ดูแล พ่อบ้านแม่บ้าน อาสาสมัคร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในสถานสงเคราะห์ ทำให้พบว่าเด็กเหล่านี้มีบาดแผลทางจิตใจ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ และขาดความรัก เมื่อเข้ามาอยู่แล้วไม่ได้รู้สึกเป็นพี่น้องกัน และแย่งความรักจากพ่อบ้านแม่บ้าน เด็กหลายคนขาดทักษะการเข้าสังคม บางคนมีพัฒนาการใช้ภาษาที่บกพร่อง

สิ่งที่ทางกลุ่มได้ค้นพบตลอดทั้งปีที่ผ่านมาคือ ร้อยละ 80 ของเด็กไม่ได้รับการติดต่อจากครอบครัวเลย สำหรับกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ทุกคนทำงานเป็นกะ กะละ 48 ชั่วโมง ทำให้มีความเหนื่อยล้าและความเครียดสะสม ไม่รู้ว่าแต่ละวันต้องเจอกับอะไรบ้าง มีความกังวลในหลายมิติในการทำงาน

ส่วนกลุ่มเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในสภาวะเสมือนจมน้ำ ต้องทำงานตลอดเวลา บางครั้งความรู้ที่มีอยู่ก็ใช้ไม่ได้กับในบางสถานการณ์ ผู้บริหารสถานรองรับจึงมีความท้าทายว่าจะทำให้ทุกคนมีแนวทางในการดูแลเด็กในแบบเดียวกัน

 

พัฒนาหลักสูตร “วิชาดี”

 

เมื่อลงพื้นที่และได้เข้าใจปัญหา พบว่าเครื่องมือสำคัญก็คือพ่อบ้านแม่บ้านที่ทำงานใกล้ชิดกับเด็กเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนากลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ให้รู้สึกว่างานของพวกเขามีคุณค่า มีความหมาย และสิ่งที่เขาทำจะประสบความสำเร็จได้จริง ๆ

นายสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทูลมอโร จำกัด เชื่อว่าโลกของเด็กกลุ่มเปราะบางสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเราสามารถที่จะช่วยให้พ่อบ้านแม่บ้านพัฒนาตนเองขึ้นอีกระดับ โดยระเบิดออกจากข้างใน ให้เขามีทักษะ มีความรู้ มีกรอบความคิดใหม่ ๆ

ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader จึงได้เชิญคุณหมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเชิงบวก ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัว มาร่วมระดมสมองพัฒนาหลักสูตร จนได้เป็น “วิชาดี” ที่สร้างขึ้นมาบนหลักของการสื่อสารเชิงบวก และพัฒนาให้เข้ากับความต้องการของพ่อบ้านแม่บ้านยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

  1. 1. ดีกับตัวเอง ให้ความรู้ทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะการจัดการความเครียด และการสื่อสารเชิงบวก
  2. 2. ดีในการทำงานกับเด็กรายคน ให้ความรู้ทักษะในการทำให้ตัวเองได้รับความไว้วางใจจากเด็กผ่านการสื่อสารเชิงบวก การชม
  3. 3. ดีในการทำงานกับเด็กรายกลุ่ม ให้ความรู้ทักษะในการวางกฎ กติกากับเด็กที่มีความหลากหลาย และ
  4. 4. ดีในการบริหารความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ให้ความรู้ทักษะในการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกัน

มีการสร้างกลุ่มไลน์ที่จะให้ความรู้เรื่องที่เรียนในตอนเช้าประมาณ 10 นาที ซึ่งคาดหวังว่าการเรียนเหล่านี้จะทำให้พ่อบ้านแม่บ้านมีพื้นที่ปลอดภัยในการแชร์ประสบการณ์ มีพื้นที่พักใจ และเข้าใจเด็กมากขึ้น

ผู้เข้าร่วมหลักสูตร RoLD2020: The Resilient Leader หวังว่าในอนาคตโปรแกรมนี้จะมีการพัฒนาให้เข้ากับสถานอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น และหากสามารถถอดบทเรียนเหล่านี้มาเป็นแนวปฏิบัติ และเกิดเป็นนโยบายก็จะทำให้ผู้ดูแลเด็กทุกแห่ง มีพื้นที่ในการแชร์ประสบการณ์กันมากขึ้น

 

สร้างความภาคภูมิใจ และได้รับการมองเห็นอีกครั้ง

 

นอกจากการพัฒนาผู้ปฏิบัติงาน ก็ยังต้องมุ่งไปพัฒนาตัวเด็กกลุ่มเปราะบาง โดย นายปิยพล วุฒิวร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน บริษัท จีเอเบิล จำกัด กล่าวถึงแผนการสร้าง Space for Growth Café เพื่อเป็นที่พักใจ เป็นที่ที่เด็ก ๆ จะได้ทำตามความฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเชฟ เป็นบาริสต้า เป็นนักดนตรี เป็นพื้นที่เพื่อการค้นหาตัวเอง ได้เรียนรู้และพัฒนาให้พวกเขาเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อทำให้เกิด Lifetime Growth ได้ออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน ด้วยระบบ Proud Framework

  1. 1. การมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียน บ้าน
  2. 2. การสนับสนุนให้เด็ก ๆ มีความมั่นใจที่จะอยู่กับสังคมภายนอกได้อย่างมีความสุข
  3. 3. การใช้ Unity and data เพื่อให้ทำงานด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยการใช้ข้อมูลสนับสนุนซึ่งกันและกัน

การสร้างเกราะป้องกันอย่างเป็นระบบ ที่จะช่วยไม่ให้เด็กกลุ่มเสี่ยงกลับไปทำผิดอีก จะต้องสร้างกระบวนการอย่างเข้าใจ และเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ต่อไป